วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

การสร้างแบรนด์ 3 – การตั้ง ชื่อแบรนด์

การตั้ง ชื่อแบรนด์

จากบทความที่แล้ว อธิบายถึงการสร้างโลโก้ แต่ลืมครับ ก่อนที่จะทำโลโก้ เราต้องคิดชื่อของแบรนด์ซะก่อน
ชื่อของแบรนด์นั้นก็สำคัญมาก เพราะเป็นเสมือนชื่อของตัวเรานี่เอง เป็นชื่อที่จะเป็นที่จดจำของลูกค้า การตั้งชื่อก็สามารถสรุปวิธีขั้นต้นมาได้ดังนี้

1. กฎสากล 6 ตัวอักษร 3 พยางค์

เป็นกฏในต่างประเทศที่ไว้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องไม่เกิน 6 ตัวอักษร และออกเสียงไม่เกิน 3 พยางค์
มีจุดประสงค์เพื่อให้ชื่อกระชับ ออกเสียงง่าย จำง่าย ต้องติดปากคนทั่วไป เช่นแบรนด์ดังๆ อย่าง Nike Dior
ส่วนชื่อที่เป็นภาษาไทย ก็ควรจะคำนึงถึงความสั้นกระชับเช่นกัน เช่นแบรนด์อย่าง Xerox, มาม่า หรือ แฟ้บ ก็สามารถติดปากจนเป็นชื่อเรียกแทนผลิตภัณฑ์ได้เลย
สร้างแบรนด์แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อมีแบรนด์เกิดขึ้นมากมาย การทำสิ่งที่แตกต่างก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่น ปัจจุบันจึงมีแบรนด์ที่มีชื่อยาวๆออกมาให้ได้เห็นกัน เช่น โชกุบุสสึ โมโนตาการิ
ดังนั้น เราอาจจะไม่ต้องซีเรียสกับจำนวนอักษรและพยางค์มากนัก คำนึงถึงความเหมาะสมดีกว่า

2. เรียบง่ายเข้าไว้

การที่จะทำให้ชื่อของแบรนด์เป็นที่จดจำ เราควรที่จะตั้งชื่อที่ ง่ายๆ เข้าถึงง่าย จดจำได้ง่าย เช่น จะขายครีมผิวขาว White Shadow (สโลแกนอาจจะประมานว่า ขาวยันเงา 55) ซึ่งจะง่ายกว่า ชื่อแบบ International beauty cream by ja หรือกระทั่ง KFC ก็เป็นการย่อชื่อจากชื่อเก่า Kentucky Fried Chicken การตั้งชื่อที่สะกดยาก ออกเสียงยากนั้นสมควรหลีกเลี่ยง
เพราะอย่างไรก็ตาม เราต้องการให้ลูกค้าเซิร์จหาร้านเราได้ง่าย

3. แตกต่างเด่นกว่า

ชื่อดีๆมีมากมาย แต่การจะตั้งชื่อ เราจะต้องดูคู่แข่งด้วย เพื่อโดดเด่นแตกต่าง แถมถ้าชื่อเหมือนเกินไป จะมีภาพลักษณ์เป็นแบรนด์เลียนเช่น ทำน้ำอัดลม ยี่ห้อเป๊บซ่า แม้เราจะเถียงให้ตายว่าคิดใหม่ๆ ไม่ได้เลียนแบบ ยังไงก็ไม่มีคนเชื่อเราแน่นอน หรือการใช้ชื่อที่ คนใช้กันเยอะแยะทั่วไป หรือชื่อโหล ก็ทำให้เราไม่เด่น เช่น ภาพด้านล่าง ร้านขายครีมมากมาย ร้านที่คุณจำได้คือร้านไหน
สร้างแบรนด์
ลูกค้ามากมาย ที่แวะเวียนเข้ามาที่ร้านเรา และยังไม่ได้ซื้อสินค้าในทันที เขาจะกลับไปพิจารณา หรือกลับไปเก็บเงินก่อน พอเขาพร้อมซื้อ เขาก็จะกลับไปหาสินค้าแบรนดฺที่เขาจำได้ ซึ่งเมื่อเราแตกต่างก็ยิ่งได้เปรียบ

4. เลือกแนวทางการตั้งชื่อ

ซึ่งจะแบ่งได้หลายวิธี
วิธีแรก ใช้แนวคิด ตั้งชื่อโดยบรรยายธุรกิจของเรา เช่น Microsoft, Miss Lily, Master card หรือ ชื่อแบรนด์ของพี่สาวแอดมินเอง ร้านเค้กชื่อ “ลองชิมซิเออ” ^^
วิธีที่สอง ชื่อที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย แต่ปลุกเร้าได้ สื่อความหมายได้ เช่น Big C (C มาจาก customer)หรือ แกะหวานของเราก็เช่นกัน มีความหมายที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย (แต่น่ารักนะ)
วิธีที่สาม ชื่อที่ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แต่ว่าจำได้ง่าย เช่น Google
วิธีที่สี่ เอาวิธีข้างต้นมาผสมกัน และอาจจะเล่นคำลงไป เพื่อให้จำง่าย เช่น salz (อ่านว่าเกลือแต่จงใจสะกดด้วยตัว z)หรือ FCUK (ถ้าสลับ Cกับ U ก็จะเป็นคำล่อแหลม แต่กลับทำให้จำง่าย กลายเป็นแบรนด์ที่นิยมของวัยรุ่นไปเลย)

5. สร้างชื่อที่มีลักษณะเป็น Platform เพื่อต่อยอดสินค้าและบริการ

หมายถึงการตั้งชื่อกลางๆเพื่อเป็นชื่อแบรนด์หลักที่สามารถเติมชื่อพ่วงท้าย กลายเป็นแบรนด์ย่อยๆของสินค้าใหม่ๆได้ เช่น Sony แตกเป็น Sony music, Sony computer entertainment
มีข้อดีคือ เราจะประหยัดทั้งงบ ทั้งเวลา เพราะแม้เราจะมีแบรนด์สินค้าตัวใหม่ขึ้นมา ยังไงคนก็จดจำแบรนด์ใหญ่ของเราได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้การตั้งชื่อแบรนด์นั้นก็มีข้อที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
1. อย่าพยายามเลียนแบบชื่อแบรนด์คนอื่น แม้จะแค่คล้ายๆก็อาจโดนฟ้องกรณีสร้างแบรนด์ให้เกิดความสับสนว่าร้านใครเป็นร้านใครแน่ แย่กว่านั้นถ้าลูกค้ารู้ว่าเราคือแบรนด์เลียนแบบ ภาพลักษณ์ก็ยิ่งลงเหวไปใหญ่
2. อย่าใช้ชื่อสกุลตัวเองมาตั้ง เพราะทำให้จำยาก แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เช่น แม่ประนอม ครัวเจ๊ง้อ เจ๊เล้ง ฯลฯ
3. อย่าตั้งชื่อโดยใช้คำฮิตๆช่วงนั้น เพราะมันจะมาเร็วแต่ไปเร็ว เมื่อหมดความดัง เช่น ยังจำคลิปเด็กที่ดังข้ามคืน โดยมีวลี “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ได้มั้ย ถ้ามีใครเอาชื่อ อังคณา ไปใช้เป็นชื่อแบรนด์ตอนนั้นก็คงจะดังเร็ว แต่ปัจจุบัน ไม่มีใครจำได้แล้ว
4. เลี่ยงชื่อที่มีผลต่อความเชื่อ ความเปราะบางละเอียดอ่อนของใจคน อย่างการเมืองหรือศาสนา เพราะอาจโดนต่อต้านจากสังคมไม่มากก็น้อย เช่น การเมืองปัจจุบัน ถ้าเราตั้งชื่อให้รู้ว่าเราสีเสื้ออะไร อยู่ฝ่ายไหน ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่มากินร้านเราแน่นอน


สำหรับใคร ที่ต้องการสอบถาม หรืออยากได้แฟนเพจสวยๆ
ทักมาได้เลยนะครับ แกะหวานรับทำแฟนเพจ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น